TOP POSTS

Wednesday, April 25, 2012

พิษณุโลกแตกตื่น! แห่ดูแผ่นดินร้อนไฟลุกจากดิน ย่างสดหมา4ตัว-คนบาดเจ็บ


 
 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่บริเวณริมถนนสายบ้านแยง-นครไทย ม.9 ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ก่อนเข้าตัวอำเภอนครไทย 1 กิโลเมตร ชาวบ้านอำเภอนครไทยจำนวนมากต่างแตกตื่นกับปรากฏการณ์พื้นดินร้อนระอุ อุณหภูมิสูงอย่างมาก และมีควันไฟพวยพุ่งจากใต้ดินขึ้นมาตลอดเวลา ควันไฟที่ร้อนแรง  ลองเอาเศษไม้เศษกระดาษ ใบไม้แห้ง หรือกระสอบป่านไปวางไว้ใกล้บริเวณที่เกิดเปลวไฟ จะทำให้เกิดไฟลุกขึ้นทันที

 ด้านนายเกรียงวิชญ์  ไกรพวิมล นายอำเภอนครไทย ได้สั่งรถดับเพลิงเทศบาลตำบลนครไทยมาจอดเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพื่อฉีดน้ำสกัดไม่ให้ไฟลุกลาม พร้อมนำเชือกกั้นพื้นที่ที่มีควันไฟระอุจากใต้ดิน เนื้อที่ประมาณ 1 งาน เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในบริเวณนั้นโดยเด็ดขาด เนื่องจากอันตรายอย่างมาก มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากการเดินผ่านบริเวณดังกล่าว แล้วตกลงไปในหลุมไฟ ถูกไฟลวกขาทั้งสองถึงหัวเข่า และมีสุนัขวิ่งผ่านบริเวณดังกล่าวถูกไฟเผาไหม้เสียชีวิตแล้ว 4 ตัว

 จากการสอบถาม ทราบว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรายแรกชื่อ นายละเอียด ทองสม เป็นคนในพื้นที่ซึ่งเดินเข้าไปนำจักรยานที่จอดอยู่ในบริเวณโรงเลื่อยเก่าออกมา แต่ระหว่างทางถูกไฟลวกที่เท้าได้รับบาดเจ็บ

 ส่วนรายที่สองชื่อนายชาตรี บุญญฤทธิ์ เจ้าของ หจก.ชาตรี บุญญฤทธิ์ ซึ่งมีที่ดินใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ และกำลังมีการก่อสร้างโรงงานรีดแผ่นสังกะสีมุงหลังคา ได้เดินไปตามหาสุนัข ปรากฏว่า ขณะเดินเข้าไปเกิดดินยุบตัว ทำให้ขาทั้งสองข้างจมดินถึงหัวเข่าถูกไฟไหม้ผิวหนังลอกถึงเนื้อ  โชคดีที่มีนายจำนค์ ภูอ่อน คนงานวิ่งไปช่วยดึงตัวขึ้นมาได้ แต่ขาทั้งสองถูกไฟไหม้บาดเจ็บอาการสาหัส ทางญาติได้พาตัวไปรักษาอยู่ที่จ.ลำปาง
 
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านอำเภอนครไทย และผู้คนที่ผ่านมาจำนวนมาก ต่างแตกตื่นกับปรากฏการณ์นี้มาก ได้เดินทางมาดูปรากฏการณ์ดินร้อนระอุอย่างไม่ขาดสาย เจ้าหน้าที่ ต้องกั้นเชือกและกันไม่ให้เข้าใกล้ พร้อมกับส่งตำรวจมารักษาความปลอดภัย ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด  ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่รายหนึ่งระบุว่า เดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นโรงเลื่อยเก่า อาจจะมีเศษขี้เลื่อยอัดแน่นอยู่ใต้ดินก็เป็นได้
 
 วันเดียวกัน นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณี จ.ลำปาง เข้าไปตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือเจาะพื้นดินในบริเวณดังกล่าว 6 จุด พบว่า พื้นที่นี้เคยเป็นโรงเลื่อยมาก่อน ทำให้มีขี้เลื่อยเป็นจำนวนมากและทับถมกันมานาน บางจุดกองขี้เลื่อยมีความหนาถึง  2 ม. และมีความหนาน้อยสุด 80 ซม. 
 
 ซึ่งเหตุที่มีไฟระอุอยู่ใต้พื้นดินนั้น เกิดจากในช่วงน้ำท่วมได้พัดพาตะกอนดินเหนียวไปทับถมกับกองขี้เลื่อย แล้วเกิดการย่อยสลายเป็นก๊าชมีเทน และในบริเวณนั้นมีการตอกเสาเข็มอยู่ด้วย ทำให้ก๊าชเกิดการรั่วไหลประกอบกับอุณหภูมิโลก จึงเกิดปฏิกิริยาสันดาปจากคลื่นความร้อน และเกิดเป็นประกายไฟดังกล่าว

 อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่หินภูเขาไฟ และไม่มีรอยเลื่อนที่มีพลังขนาดใหญ่ จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำเลี้ยงความร้อนเอาไว้ คาดว่าประมาณ 2-3 วัน พื้นที่ดังกล่าวก็จะกลับสู่ภาวะปกติ

 ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงสาเหตุเบื้องต้นของปรากฏการณ์ประหลาดที่ จ.พิษณุโลก ว่า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สาเหตุจากมนุษย์และธรรมชาติ

 โดยสาเหตุที่มาจากมนุษย์นั้น ตนทราบจากข่าวว่าบริเวณเกิดเหตุในอดีตเคยเป็นโรงเลื่อย จึงอาจทำให้มีเศษวัสดุซึ่งสามารถติดไฟตกค้างอยู่ โดยเมื่อเวลาผ่านไปทำให้วัสดุดังกล่าวถูกกลบอยู่ใต้ผืนดินและเกิดการปะทุขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าโรงเลื่อยดังกล่าวเลิกกิจการไปแล้วนานกว่า 30 ปี สาเหตุนี้จึงน้อยมีโอกาสน้อย

 ส่วนอีกกลุ่มสาเหตุที่มาจากธรรมชาตินั้น แบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท ได้แก่ ความร้อนจากการปะทุของภูเขาไฟใต้ดิน โดยเท่าที่ตรวจสอบพบว่าเคยเกิดการปะทุเมื่อ 1 หมื่นปีที่แล้ว อย่างในจ.ลพบุรี และจ.เพชรบูรณ์ แม้โอกาสที่กลับมาปะทุอีกเป็นไปได้แต่ก็ยังมีโอกาสน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเภทต่อมา คือ ความร้อนจากการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่สุด

 ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบรอยเลื่อนในบริเวณใกล้เคียงมีรอยเลื่อน "น้ำภาค" ซึ่งพาดผ่านอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 48 กิโลเมตร แต่ยังไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดว่าจัดเป็น "รอยเลื่อนมีพลัง" หรือไม่ แต่หากรอยเลื่อนใดที่เกิดการเคลื่อนที่แล้วส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ขึ้นได้ก็จะถือว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง โดยในบริเวณใกล้เคียงมักจะพบบ่อน้ำพุร้อนด้วย

 อย่างไรก็ดี ความร้อนที่เกิดขึ้นอาจมาจากการที่ตำแหน่งเกิดเหตุตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ประจวบกับองค์ประกอบด้านอื่นๆ เช่น ความแห้งแล้งทำให้ไม่มีฝนตกลงมาช่วยระบายความร้อน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวทราบว่ามีฝนตกน้อยมากตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการระอุขึ้น หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ ความร้อนถูกพามาจากรอยเลื่อนในบริเวณใกล้เคียง

 อย่างไรก็ตาม การสืบหาสาเหตุจะต้องมีการลงพื้นที่สำรวจ โดยระยะเวลาพิสูจน์ขึ้นกับชำนาญของเจ้าหน้าที่ ซึ่งบางกรณีอาจบอกได้ทันที หรือขุดเป็นร่องเพื่อสำรวจ แต่หากขุดไม่ได้เพราะอุณหภูมิสูงมาก ก็จะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษยิงคลื่นสั่นสะเทือนลงไปใต้ผิวดิน โดยตนต้องการลงไปสำรวจพื้นที่แต่ขณะนี้ติดภารกิจ ทั้งนี้ตนคิดว่า ในพื้นที่น่าจะมีนักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญอยู่และเดินทางไปสำรวจ คาดว่าคงใช้เวลาไม่นานในการหาสาเหตุ

0 comments:

Post a Comment